หน้าร้อนระวัง “โรคฮีตสโตรก” แนะวิธีดูแลตัวเอง เลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดดร้อนจัด ดื่มน้ำมากขึ้น เลี่ยงแอลกอฮอล์

78

23 ก.พ. 67 – นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาว และเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ในวันที่ 21 ก.พ. 67 โดยในตอนกลางวัน บริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 35 องศาเซลเซียส เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากรังสีดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีลมฝ่ายใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งเป็นรูปแบบลักษณะอากาศของฤดูร้อน โดยลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงที่สุด 43.0-44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งคาดว่าอุณหภูมิจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนมากช่วงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม แต่จะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 30

รัฐบาลห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชนในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และผู้ป่วยมีโรคประจำตัว จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือโรคฮีตสโตรก (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง และไม่ประมาทจากการทำงานกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดดร้อนจัด หากพบเห็นผู้ป่วยหรือต้องการความช่วยเหลือ โทรขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669

ข้อแนะนำ​ 8​ วิธีการดูแลตนเองจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ​ สสส. ดังนี้
1.ดื่มน้ำให้มากขึ้นจากปกติ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าวันละ 8 แก้ว เนื่องจากหน้าร้อนร่างกายจะสูญเสียเหงื่อมาก ควรหลีกเลี่ยงน้ำหวาน เพราะจะยิ่งทำให้กระหายน้ำมากขึ้น อาจดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำสมุนไพรที่มีรสไม่หวานจัดแทน
2.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น อาจทำให้เกิดการขาดน้ำ นอกจากนี้ ในหน้าร้อนแอลกอฮอล์จะซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้เร็ว ทำให้เมาง่าย และอาจช็อกหมดสติได้
3.ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียง่ายขึ้น
4.สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ระบายความร้อนได้ง่าย และดูแลความสะอาดของร่างกายไม่ให้เกิดการอับชื้น
5.ใช้ครีมกันแดดเมื่อออกกลางแจ้งหรือในที่แดดแรงๆ เพื่อป้องกันการเกิดผิวไหม้จากการได้รับแสงแดดมากเกินไปและควรสวมแว่นกันแดดเพื่อปกป้องสายตา
6.ไม่ควรนอนให้ลมหรือความเย็นโกรกในทันทีที่ออกแดดมา ซึ่งความร้อนจากแดดทำให้เสียเหงื่อ เสียพลัง แต่เมื่อนอนหลับตากความเย็นในขณะเหงื่อออก จะทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงอย่างเร็ว ถ้าอุณหภูมิภายนอกยังสูงอยู่ แล้วเหงื่อไม่สามารถระบายออกมาได้ จะมีความร้อนสะสมอยู่ข้างใน ทำให้มีอาการเวียนศีรษะ และอาจทำให้เป็นไข้หวัดได้
7.รับประทานอาหารปรุงสุกและสะอาด ป้องกันโรคทางเดินอาหารและน้ำที่พบบ่อยในหน้าร้อน
8.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง