บอร์ดค่าจ้าง เปิดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ นำร่อง 10 จังหวัด ศึกษาความเป็นไปได้ตามพื้นที่ในกิจการท่องเที่ยวและบริการ

217

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 2/2567 เพื่อพิจารณาสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ และแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า ในวันนี้คณะกรรมการค่าจ้างหรือบอร์ดไตรภาคีได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่และแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเสนอ ซึ่งยังไม่ได้เป็นการสรุปว่าขึ้นค่าจ้างเท่าไหร่ โดยในการทบทวนและปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการค่าจ้างได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ ทบทวน และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า การประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้เชิญผู้แทนคณะอนุกรรมการฯ มานำเสนอสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่แก่คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ได้นำเรื่องมิติของเวลามาใช้ในการปรับค่าจ้าง ทำให้ยืดหยุ่นต่อการปรับระหว่างปี ทำให้ค่าจ้างที่ปรับใหม่เป็นค่าจ้างที่สะท้อนระยะเวลาการปรับค่าจ้างที่แท้จริงในปัจจุบันและเป็นธรรมกับแรงงาน เช่น มีการปรับอัตราค่าจ้างครั้งหลังสุดในเดือนตุลาคม 2565 และมีการปรับอัตราค่าจ้างครั้งใหม่ในเดือนมกราคม 2567 คิดเป็นจำนวนเดือนที่ไม่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 15 เดือน นอกจากนี้มาตรา 87 ที่ใช้ในการพิจารณาประกอบเพิ่มเติมจากสูตรการคำนวณได้มีการปรับช่วงของการพิจารณาให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่วนตัวแปรอื่นๆ ได้แก่ ผลิตภาพแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ อัตราสมทบของแรงงาน (ค่า L) ยังคงเหมือนสูตรเดิม

“จากการพิจารณาข้อมูลที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอ คณะกรรมการค่าจ้างจึงมีมติเห็นชอบสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอ และเห็นชอบแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ โดยให้มีการสำรวจข้อมูลประเภทกิจการด้านท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ มาตรฐานการครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง และข้อเท็จจริงทางสังคมและเศรษฐกิจตามพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลผลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างต่อไป

ทั้งนี้ เราจะประชุมคณะกรรรมการค่าจ้างไตรภาคีอีกครั้งในวันที่ 26 มีนาคม 2567 และหลังจากนี้ไปจะเป็นการสำรวจซึ่งจะทำให้สามารถทราบสูตรการคำนวณการขึ้นอัตราค่าจ้างเป็นรายพื้นที่ให้เหมาะสม” นายไพโรจน์ กล่าว