13 มี.ค. 67 – ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องฟองน้ำล้างจาน ระบุว่า
มีการแชร์ภาพของฟองน้ำล้างจาน ที่ใช้มานานมาก จนสภาพเยินยู่ยี่ ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ควรทำตามนะครับ ฟองน้ำเก่าๆ จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ และควรจะเปลี่ยนฟองน้ำบ่อยๆ ด้วยซ้ำ
ทาง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเพจ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย ไว้ว่า “ฟองน้ำ หรือ แผ่นใยขัดล้างจาน (สก็อตไบร์) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในครัวเรือนที่มีมานาน จนเป็นส่วนหนึ่งของครัว แต่ก็เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคมากมาย สาเหตุที่ฟองน้ำล้างจาน เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคนั้น เพราะฟองน้ำเป็นสิ่งที่ใช้เช็ดล้างสิ่งสกปรก มีความชื้นแฉะ ทำให้มีเชื้อโรคสะสมได้ง่าย ทางที่ดีควรเปลี่ยนฟองน้ำล้างจาน ทุก 1 เดือน”
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลงานวิจัยหนึ่งจากมหาวิทยาลัยรัฐอะริโซนา (Arizona State University) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่เมืองเทมพี ในรัฐแอริโซนา บอกไว้ว่า “ฟองน้ำ ทุกๆ 1 ตารางนิ้ว มีแบคทีเรีย กว่า 10 ล้านตัวหรือมากกว่าฝารองนั่งชักโครก” เสียอีก
เนื่องจากฟองน้ำล้างจาน ที่ใช้ทำความสะอาดสิ่งสกปรกออกไปนั้น ตัวมันเองก็ดูดเอาสิ่งสกปรกมาอยู่ข้างในรูพรุนที่มีเป็นจำนวนมาก ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปสะสมอาศัยด้านในได้ง่าย ฟองน้ำเก่า ที่ไม่ยอมเปลี่ยน ก็อาจมีเชื้อโรคเยอะ เวลาเอาไปล้างจาน อาจนำเชื้อจุลินทรีย์ไปติดที่จานเพิ่มขึ้นได้ด้วย และแบคทีเรียพวกนี้ อาจทำให้เกิดโรคได้ เช่น อาหารเป็นพิษ ท้องเสีย ท้องร่วง ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
สำหรับทริคในการใช้ ฟองน้ำล้างจาน ให้ปลอดภัย ห่างไกลเชื้อโรค มีดังต่อไปนี้
– ไม่ควรแช่ฟองน้ำทิ้งไว้ในน้ำ หรือน้ำยาล้างจาน เมื่อใช้เสร็จแล้ว เพราะจะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้
– หลังจากใช้ฟองน้ำเสร็จแล้ว ให้ล้างน้ำเปล่าให้สะอาด บีบให้แห้งแล้วผึ่งลมไว้ให้แห้ง อาจวางไว้บนตะแกรงที่แห้งและระบายอากาศได้ดี หรือจะใช้ไม้หนีบผ้าหนีบไว้กับรางที่คว่ำจาน ให้สามารถระบายอากาศและโดนลมจนแห้งได้
– (บางคำแนะนำ บอกว่าไม่ต้องตากให้แห้งก็ได้ ถ้าเป็นน้ำยาล้างจานชนิดมีสารฆ่าเชื้อด้วย)
– เปลี่ยนฟองน้ำล้างจานบ่อยๆ หรืออย่างน้อยทุกๆ 3-4 สัปดาห์ หรือสังเกตว่าฟองน้ำเริ่มยุ่ย หรือหากเห็นสก็อตไบร์ทหรือแผ่นใยขัด ที่เริ่มนิ่มขนหลุดออกมาได้ นั่นเป็นสัญญาณเตือน ว่าควรเริ่มเปลี่ยนไปใช้อันใหม่ได้แล้ว
ที่มา : เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์