สภาฯ เห็นชอบผ่าน ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วาระ 3 เตรียมส่งให้วุฒิสภาพิจารณาก่อนประกาศบังคับใช้ต่อไป

65

27 มี.ค. 67 – สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กฎหมายสมรสเท่าเทียม) ในวาระ 3 จากนี้ จะต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาก่อนประกาศบังคับใช้ต่อไป

นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กฎหมายสมรสเท่าเทียม) สรุปประเด็นที่คณะกรรมาธิการเห็นสมควรแก้ไข 3 ประเด็นหลักดังนี้

คณะกรรมาธิการเห็นสมควรว่าบทญัตติในบางมาตรามีการใช้ถ้อยคำไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบัน จึงมีการปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการหมั้นของบุคคลควรมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้บุคคลที่กระทำการหมั้นหรือสมรสมีอายุพ้นจากความเป็นเด็ก สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ป้องกันการบังคับการแต่งงานในวัยเด็ก และเชื่อมโยงกับสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนหลายฉบับที่ไทยร่วมภาคี

การเพิ่มบทบัญญัติใหม่ 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้คู่สมรสตามประมวลกฎหมายฉบับนี้ มีสิทธิ์และหน้าที่ตามกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ให้กับคู่สามีภรรยา เป็นการลดภาระหน่วยงานต่างๆ ในการทบทวนพิจารณาแก้ไข้กฎหมายที่มีอยู่ในความรับผิดชอบ ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นใดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสามีภรรยาที่แตกต่างออกไป ยังคงต้องพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายภายในระยะเวลาที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนด

โดยนายดนุพร เน้นย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้พิจารณาขึ้นเพื่อประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง ไม่มีใครต้องเสียสิทธิใดๆ และเป็นการคืนสิทธิขั้นพื้นฐานหลายๆ ด้าน ให้กับกลุ่มคนที่ไม่ได้เคยถูกรับรองทางกฎหมาย จึงขอเชิญชวนให้ผู้แทนราษฎรไทยทุกคนร่วมสร้างรากฐานความเท่าเทียมให้กับประเทศ สร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่ 3 ในเอเชีย ที่จะรองรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม

หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบกับกรรมาธิการฯเสียงส่วนใหญ่ ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม

ดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคเพื่อไทย ในประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้ เป็นการเริ่มต้นจุดไฟดวงแรก ที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความเท่าเทียมทางสังคม กฎหมายฉบับนี้เขียนเพื่อคนไทยทุกคน เราต้องการคืนสิทธิ์เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญให้ LGBTQ+ ที่เคยสูญเสียไปในอดีต สิทธิที่ถูกมองข้ามมาตลอดในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

คืนสิทธิการรักษาพยาบาล
คืนสิทธิการเบิกจ่ายภาษี
คืนสิทธิในการลงชื่อคู่สมรส เพื่อยินยอมในการรักษา
คืนสิทธิประกันชีวิตให้คู่สมรส ฯลฯ

วันนี้ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นการยกระดับประเทศไทยในสายตาชาวโลก ขั้นตอนหลังจากนี้ จะเร่งส่งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณาโดยเร็วที่สุด โดยจากที่ได้หารือประสานงานกับสมาชิกวุฒิสภา รัฐบาล คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา ภายในวันที่ 2 เมษายน 2567 โดยจากการพูดคุยกับ สว.หลายท่าน มีทิศทางบวก