10 เม.ย. 67 – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญสรุป ดังนี้
ภายหลังการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่านโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เป็นนโยบายที่จะยกระดับเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนวันนี้ได้มาถึงวันที่รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน ส่งมอบนโยบายที่จะพลิกชีวิตพี่น้องประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนได้ในไตรมาสสาม และเงินจะส่งตรงถึงพี่น้องประชาชนในไตรมาสสี่ปีนี้
นายกฯ กล่าวย้ำว่านโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี อันจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล
นายกฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ตลอดจนยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจและสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งจะเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและยังก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย
นายกฯ กล่าวว่าในส่วนของความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ จะเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ผ่าน Digital Wallet วงเงิน 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ 1.2 ถึงร้อยละ 1.6 จากกรณีฐาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ โดยรัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยกระบวนการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การดำเนินโครงการฯ จะต้องเป็นไปโดยซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ และแหล่งเงินที่มา นายกฯ ได้มอบให้ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียดโครงการฯ และประเด็นเงื่อนไขข้อกำหนดและการพัฒนาระบบรายละเอียดของโครงการได้มอบให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจง
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแหล่งเงินของโครงการฯ ตามที่กระทรวงการการคลัง สำนักงบประมาณได้รับมอบหมายให้ไปพิจารณาแหล่งเงินทางเลือก วงเงิน 500,000 ล้านบาท ว่าจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างไร โดยขณะนี้มีคำตอบให้คณะกรรมการนโยบายฯ แล้วว่า วงเงิน 500,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว 2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568 และ 3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ จึงมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง ก็อาจนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ รวมวงเงินส่วนที่ 1- 3 เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ยืนยันว่า การดำเนินการเรื่องแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ) พ.ร.บ.งบประมาณ และ พ.ร.บ.เงินตรา โดย ณ วันที่เริ่มโครงการช่วงปลายปีจะมีเงิน 500,000 ล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือการใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ขอยืนยันเรื่องแหล่งเงินและความมั่นใจว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
ด้านนายจุลพันธ์ฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบในหลายประเด็น โดยเรื่องแรกคือเรื่องของสาเหตุและความจำเป็นในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งคณะกรรมการได้ให้ความเห็นชอบ ดังนี้ (1) เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา (2) เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำหลังจากช่วงโควิด19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซึ่งบั่นทอนด้านกำลังซื้อของประชาชน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้า ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยมีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันควบคู่กับการระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังรวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ คณะกรมมการฯ ได้มีแนวทางการดำเนินโครงการฯ รายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมาย: ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยมีจะมีเกณฑ์ ได้แก่ ผู้มีอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
2. เงื่อนไขการใช้จ่าย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือ การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า โดยใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
กลุ่มสองคือ การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ซึ่งไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายในเชิงพื้นที่และขนาดของร้านค้าระหว่างร้านค้ากับร้านค้าด้วยกัน ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด) และตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
3. สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
4. สำหรับการใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ จะใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเองโดยหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
5. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
6. สำหรับระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
7. เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตภายใต้โครงการฯ คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นอนุกรรมการ รวมทั้งที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน มีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดโครงการและระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไข และเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการประสานงานและประชาสัมพันธ์โครงการฯ ในประเด็นต่าง ๆ ด้วย โดยวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้มีมติเห็นชอบทุกประเด็นตามที่ได้ชี้แจงไป และมอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการและกรรมการ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายนนี