17 เม.ย. 67 – ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2567 เกิดอุบัติเหตุ 242 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 237 คน ผู้เสียชีวิต 32 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (11 – 16 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,811 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,837 คน ผู้เสียชีวิต รวม 243 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด ซึ่ง ศปถ.ได้กำชับจังหวัดดูแลความปลอดภัยและบริหารจัดการจราจรในเส้นทางสายหลัก และเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลประชาชนบางส่วนที่ยังอยู่ระหว่างการเดินทางกลับ รวมถึงสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การตัดหน้ากระชั้นชิด การใช้อุปกรณ์นิรภัย และวิธีการขับขี่ยานพาหนะที่ปลอดภัย รวมถึงการจัดทำใบอนุญาตขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนตรวจสอบและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงติดค้างในสถานีที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 242 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 237 คน ผู้เสียชีวิต 32 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.60 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.97 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 21.07 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.90 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 83.47 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.32 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.23 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 00.01 – 01.00 น. ร้อยละ 11.16 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 20.07 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,756 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,331 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ แพร่ (13 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ แพร่ (18 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่นและสุรินทร์ (จังหวัดละ 3 ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (11 – 16 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,811 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,837 คน ผู้เสียชีวิต รวม 243 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (71 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ แพร่ (68 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (15 ราย)
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางจุดหมายแล้ว แต่ยังมีบางส่วนอยู่ระหว่างเดินทางกลับ ศปถ. จึงได้กำชับจังหวัดดูแลความปลอดภัยและบริหารจัดการจราจรในเส้นทางสายหลัก เส้นทางเชื่อมต่อถนนสายหลักที่มุ่งสู่กรุงเทพฯ และถนนทางตรงที่มีระยะทางยาว เน้นคุมเข้มการขับรถเร็ว ป้องกันอุบัติเหตุจากการหลับใน และการใช้อุปกรณ์นิรภัยตลอดการเดินทาง รวมถึงเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง และจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงหกวันที่ผ่านมา พบว่า ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 84.90 เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของการบาดเจ็บและความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการใช้ยานพาหนะดังกล่าว ขอให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมถึงปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ขับขี่ด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้ร่วมใช้เส้นทาง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัยและเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ขอให้จังหวัด หน่วยงาน และองค์กรภาคีเครือข่ายร่วมสร้างการรับรู้ผ่านการประชาสัมพันธ์เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับการตัดหน้ากระชั้นชิด การใช้อุปกรณ์นิรภัย และวิธีการขับขี่ยานพาหนะที่ปลอดภัย รวมถึงการจัดทำใบอนุญาตขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด
นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 6 วันที่ผ่านมา พบว่า การขับรถเร็วยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มข้น ทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยกวดขันพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด นอกจากนั้น ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงติดค้างในสถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน ท่าเทียบเรือ และสถานีรถไฟทุกแห่ง เพื่อให้สามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนมีอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และรถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดใช้มาตรการทางสังคมในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในเด็กและเยาวชนตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการดูแลและป้องปรามจากครอบครัว รวมถึงเตรียมสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 ผ่านกลไกสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชนต่อไป ทั้งนี้ หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วน