24 เม.ย. 67 – นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เชื้อราแมว (Microsporum canis) เป็นเชื้อราที่สามารถก่อโรคในแมวได้ และสามารถติดต่อระหว่างแมวด้วยกันเอง รวมทั้งสามารถติดต่อมาที่มนุษย์ได้ โดยเฉพาะคนที่ชอบสัมผัสกับแมว โดนแมวที่ติดเชื้อข่วนกัดหรือสัมผัสผิวหนังโดยอาจจะไม่ได้ทำความสะอาดหลังจากสัมผัส
ทำให้เกิดการติดเชื้อราเกิดภาวะโรคกลากแมวขึ้นมาได้ (Tinea infection) นอกจากนี้ยังสามารถติดมาจากแมวที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนเชื้อราแมว
เช่น ขนแมว ตามบริเวณต่างๆ ได้ โดยส่วนใหญ่แมวที่เป็นโรคผิวหนัง อาจจะมีลักษณะเป็นผิวหนังแดง แห้ง ลอกเป็นขุยๆ หรือมีขนหลุดเป็นหย่อมๆ บางบริเวณได้
ในขณะที่มนุษย์เมื่อมีอาการติดเชื้อราแมวมา จะมีอาการต่างๆ โดยเริ่มมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ตามลำตัวหรือแขนขาที่สัมผัส ลักษณะผื่นจะเป็นผื่นแดงขอบค่อนข้างหนา มองเห็นชัด รวมทั้งมีขุยสะเก็ด และขนาดวงมีขนาดใหญ่ขึ้นตามการกระจายของเชื้อราที่ผิวหนัง
“นอกจากนี้คนไข้จะมีอาการคันตามผื่นแดงที่เป็นได้ หรือบางครั้งมีการติดเชื้อที่หนังศีรษะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะและมีผมร่วงเป็นหย่อมได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยแกะเกามากจนเป็นแผล อาจจะพบการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนเพิ่มเติมได้ ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกวิธี มีโอกาสที่ผื่นลุกลามเป็นมากขึ้น หรือกระจายทั่วตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ” นพ.ไพโรจน์กล่าว
นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า วิธีการรักษาเชื้อรา กลากแมว สำหรับผู้ป่วยในกรณีที่เป็นผื่นกลากแมวไม่รุนแรง มีผื่นรอยโรค1-2 รอยโรค แพทย์จะให้ยาทาฆ่าเชื้อราโดยที่จะต้องทายาต่อเนื่อง 3-4 สัปดาห์ อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นได้
สำหรับในกรณีที่เป็นผื่นหลายรอยโรค หรือหลายตำแหน่ง หรือได้รับการรักษาด้วยยาทาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือติดเชื้อราแมวที่ศีรษะ แพทย์จะพิจารณาให้ยารับประทานยาต้านเชื้อราตามที่แพทย์สั่งควบคู่กับยาทาต้านเชื้อราอย่างต่อเนื่อง
นพ.สุตศรัญย์ พรึงลำภู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า วิธีการป้องกันตนเองจากเชื้อราแมว คนที่เลี้ยงแมว ควรที่จะหมั่นดูแลสุขภาพของแมวที่เลี้ยง ควรพาแมวไปฉีดวัคซีนตามกำหนด จัดสถานที่เลี้ยงให้สะอาด แยกโซนบริเวณให้เหมาะสม ในกรณีที่แมวเป็นโรคผิวหนังหรือรอยโรค ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสแมวในช่วงที่แมวมีอาการหรือจนกว่าจะรักษาแมวจนหาย
นอกจากนี้ไม่ควรที่จะคลุกคลีกับแมวมากเกินไป เช่นการเลี้ยงแมวบนเตียงหรือที่นอน ไม่ควรให้แมวสัมผัสหรือเลียใบหน้า หลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงควรที่จะทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสให้สะอาดทุกครั้งในทันที
ในกรณีที่คนไข้ติดเชื้อจากทางผิวหนังจากแมวแล้ว ควรทำความสะอาดเสื้อผ้าให้สะอาด ด้วยสารฟอกขาว หรือโซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือใช้ความร้อนรีดเสื้อผ้าทั้งบริเวณด้านในและด้านนอก
ข้อมูล/ภาพ : สสส.