26 เม.ย. 67 – นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากรายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ภาพรวมสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ พบว่าปริมาณน้ำรวมมีจำนวน 55% ของความจุเก็บกัก (45,940 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ จำนวน 36% (20,764 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำ เฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จุฬาภรณ์ ภาคตะวันออก: คลองสียัด และภาคกลาง : กระเสียว (ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง)
นายคารม กล่าวต่อไปว่า สำหรับคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้ สนทช. ได้แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนและน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำ ตั้งแต่วันนี้ – 30 เม.ย. 67
“แนวทางการบริหารจัดการน้ำ สทนช. เปิดเผยผลว่า ขณะนี้ใกล้จะสิ้นสุดช่วงฤดูแล้งแล้ว ในสิ้นเดือน เม.ย. 67 โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ 45,099 ล้านลูกบาศก์เมตร (55% ของความจุ) ซึ่งนับว่าปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติจากอิทธิพลของสภาวะเอลนีโญ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนบริหารจัดการน้ำและกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งถัดไปแล้ว” นายคารม กล่าว