29 เม.ย. 67 – กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจพบประชาชนมีพฤติกรรมการกินอาหารปรุงไม่สุกจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์น้ำจืด และสัตว์ทะเล สูงถึง ร้อยละ 65.77 โดยมีเมนูยอดฮิตที่กินมากที่สุด คือ ส้มตำปลาร้าดิบ ก้อยกุ้ง แหนมหมู ซึ่งพฤติกรรมการกิน เช่นนี้สุ่มเสี่ยงเกิดโรคจากพยาธิใบไม้ตับ หรือ โรคหูดับได้ แนะปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติ กินอาหารปรุงสุก ปลอดภัย ปลอดโรค
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ระหว่างวันที่ 13 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ในกลุ่มวัยทำงาน โดยกองสุขศึกษา กรม สบส. ร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมผ่านระบบออนไลน์ พบว่า ผู้ตอบแบบเฝ้าระวังฯ จำนวน 16,517 ราย เป็นประชากรภาคอีสาน ร้อยละ 58.50 ภาคเหนือ ร้อยละ 19.17 ภาคกลาง ร้อยละ 17.42 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 3.49 และภาคใต้ ร้อยละ 1.40 ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 48.45 มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ดิบ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์น้ำจืด และสัตว์ทะเล ร้อยละ 65.77 พื้นที่ที่มีความชุกของพฤติกรรมการกินอาหารปรุงไม่สุกมากที่สุด คือ ภาคอีสาน ร้อยละ 77.14 รองลงมา คือ ภาคเหนือ ร้อยละ 67.32
โดย 5 เมนูยอดฮิตพบว่านิยมกินมากที่สุด ได้แก่ ส้มตำใส่ปลาร้าดิบ ร้อยละ 45.47 รองลงมาปลาร้าบองดิบ ร้อยละ 35.10 ก้อยกุ้งฝอยดิบ 34.76 แหนมหมูดิบ 31.73 และลาบก้อยวัวดิบ ร้อยละ 28.70 อีกทั้ง คนที่มีความเชื่อว่าเนื้อดิบอร่อยกว่าเนื้อสุกจะมีโอกาสกินเนื้อดิบเป็น 4.21 เท่าของคนที่ไม่เชื่อในรสชาติดังกล่าว และการที่เคยเห็นคนดัง คนมีชื่อเสียงกินเนื้อดิบผ่านสื่อต่างๆ จะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ โดยมีโอกาสที่จะกินเนื้อดิบตามเป็น 1.34 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยเห็น ซึ่งกรม สบส.จะมอบหมายให้กองสุขศึกษาดำเนินการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) แก่ประชาชนในระดับบุคคล ให้เกิดความเข้าถึง เข้าใจในข้อมูลสุขภาพ สามารถนำข้อมูลไปใช้ดูแลและรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงตามช่วงวัยต่างๆ ทำให้สามารถประกอบกิจกรรมและการงานได้อย่างเข้มแข็ง
ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า นอกจากประเด็นในด้านความเชื่อข้างต้นแล้ว จากผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมฯ ยังพบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกินอาหารปรุงไม่สุกของประชาชน อาทิ หากมีคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวที่กินเนื้อสัตว์ดิบ จะมีโอกาสกินมากกว่าผู้ที่ไม่มีคนใกล้ชิดกิน ถึง 4.18 เท่า รวมถึงความเชื่อว่าการบีบน้ำมะนาวและขยำกับเนื้อสัตว์จนซีดจะทำให้สุกได้ และการกินยาถ่ายพยาธิทุกปี จะทำให้ปลอดภัยจากโรคพยาธิได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจและยังมีความเชื่อในเรื่องการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง เพราะการกินอาหารปรุงไม่สุกก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ หรือโรคหูดับ ที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น เพื่ออนามัยที่ดีลดเสี่ยงปัญหาสุขภาพ กรม สบส. ขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติ 10 ประการ ในข้อ 3 คือการล้างมือด้วยน้ำสบู่ทุกครั้งให้สะอาดก่อนและหลังปรุงอาหาร และกินอาหาร และข้อ 4 กินอาหารสุกสะอาด ปราศจากสารอันตราย ควรกินอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส และมากกว่า 2 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อโรค และใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน