เมื่อวันที่ 18 พ.ค.67 เวลา 10.00 น. ณ อาคารสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี) บช.สอท. นำโดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พร้อมด้วย พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1, พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2, พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว ปฏิบัติการ HANG UP กรณีตำรวจไซเบอร์รวบหัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์สุดโหดพร้อมสมุน 12 ราย บังคับทำยอดวีคละ 20 ล้าน ฟันรายได้นับพันล้านต่อปี
สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายรายหนึ่งได้ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นพนักงานธนาคารกสิกรไทย (สาย1) โทรมาหลอกว่าผู้เสียหายเป็นหนี้บัตรเครดิต หากไม่ได้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวอาจมีบุคคลแอบอ้างต้องแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองตาก เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ มิจฉาชีพจึงโอนสายต่อไปให้คนที่สองซึ่งปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองตาก (สาย2 : สวมบทข่มขู่) จากนั้นจึงให้ผู้เสียหายแอด LINE แล้วข่มขู่ว่ามีพยานหลักฐานที่แสดงว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีฟอกเงินต้องโดนดำเนินคดี ผู้เสียหายเกิดความกลัว มิจฉาชีพจึงให้ผู้เสียหายแสดงความบริสุทธิ์โดยการโอนเงินให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
จากนั้นจึงมีการโอนสายต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปลอมที่อ้างตัวเป็นผู้กอง (สาย 3 : สวมบทปลอบโยน) โดยให้คำแนะนำและโน้มน้าวให้ผู้เสียหายโอนเงินไปตรวจสอบ อ้างว่าเสร็จแล้วและจะโอนคืนให้ในวันถัดไป จึงแจ้งข้อมูลบัญชีธนาคารให้ผู้เสียหายโอนเงิน ผู้เสียหายได้โอนไปหลายครั้ง รวมทั้งสิ้น 2,370,000 บาท และยังแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเพิ่มอีก จนผู้เสียหายรู้ตัวว่าโดนหลอก จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเวลาต่อมา
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้สืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว จนพบพยานหลักฐานที่สอดคล้องว่าผู้เสียหายรายนี้โดนหลอกโดยแก็งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองโอเสม็ด จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา
ตำรวจไซเบอร์จึงได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศกัมพูชา จึงทราบว่า ได้มีคนไทยถูกหลอกไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองโอเสม็ด จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา และได้หาทางติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยในกัมพูชาและสามารถช่วยเหลือออกมาได้จำนวน 4 คน
ต่อมา พนักงานสอบสวน กก.3 บก.สอท.2 บช.สอท. จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนทราบข้อมูลบุคคลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองโอเสม็ดดังกล่าว จนสามารถขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับ ได้จำนวน 15 ราย
โดยตำรวจไซเบอร์ได้ลงพื้นที่ติตตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับกลุ่มดังกล่าวได้ ทั้งสิ้น 12 ราย ดังนี้
1.นายปฏิภาณ หรือ อาฉิ่ง อายุ 21 ปี (หัวหน้าแก๊ง และ โอเปอเรเตอร์ สาย 3)
2.นายภาณุ หรือตี๋ อายุ 23 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1 และ 2)
3.นายพงศกร หรือ เบล อายุ 29 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1)
4.นายกฤษณะ หรือ เบส อายุ 21 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1)
5.นายอภิรัฐ อายุ 23 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1 และ 2)
6.น.ส.ฤทัยรัตน์ อายุ 29 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1)
7.น.ส.ธวัลกร หรือ น.ส.กุสุมา หรือโฟม อายุ 28 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1 และ 2)
8.นายธวัชชัย หรือ ตังค์ อายุ 24 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1 และ 2)
9.นายพงศธร หรือ ปราย อายุ 24 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1 และ 2)
10. น.ส.พัชสร หรืออุ้ม อายุ 23 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1)
11.นายอดิศักดิ์ อายุ 35 ปี (คนพาข้ามแดนโดยช่องทางธรรมชาติ)
12.น.ส.ใบเฟิรส์ อายุ 21 ปี อายัดตัวที่เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ (เจ้าของบัญชีม้า)
ส่วนผู้ต้องหาอีก 3 ราย พบว่าได้หลบหนีออกนอกประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติไปเรียบร้อยแล้ว
โดยเจ้าหน้าที่ได้พบหลักฐานสำคัญของ นายปฏิภาณ หรือ อาฉิ่ง คือ ตรวจพบหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานของแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์เก็บไว้ในแฟลชไดรฟ์จำนวนมาก เช่น ข้อมูลเหยื่อกว่า 12,000 ราย ข้อมูลบทพูดหลอกลวงผู้เสียหายของสาย 1 และ สาย 2 ข้อมูลการแก้ปัญหากรณีเหยื่อสอบถามกลับ ข้อมูลคลิปวีดีโอของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ทำการตัดต่อเสียงแล้ว ข้อมูลบัตรข้าราชการตำรวจปลอม ข้อมูลวิธีการจัดทำซิม และบัญชีม้า และยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบภาษาจีนอีกเป็นจำนวนมาก
จากการสอบสวนผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ทุกคนให้การยืนยันว่า นายปฏิภาณ หรือ อาฉิ่ง คือผู้ควบคุมสั่งการทั้งหมด โดยพักอาศัยในอาคารมีรั้วสูงรอบขอบชิด มี รปภ. เฝ้าตลอดเวลา ไม่สามารถออกไปไหนได้ หากใครทำยอดไม่ได้ ทำผิดกฎข้อห้าม หรือ พยายามหลบหนี อาฉิ่งจะบังคับให้ยืนตากแดด 2-3 ชั่วโมง หรือทำร้ายร่างกายโดยการทุบตี และ ชอร์ตด้วยเครื่องชอร์ตไฟฟ้า โดยบังคับให้ทำงานตั้งแต่ 08.00 – 18.00 น. ไม่มีวันหยุด มีอาหารให้ 4 มื้อ (เช้า กลางวัน เย็น และค่ำ) แต่ในเวลางานอนุญาตให้ดื่มแค่น้ำเปล่า ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ และห้ามคุยกันข้ามสาย อีกทั้ง อาฉิ่งยังเป็นผู้เรียบเรียงบทพูดในการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยนายอาฉิ่งพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีน
นอกจากนี ทุกคนยอมรับและเปิดเผยว่า ได้ทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มดังกล่าวในประเทศกัมพูชา ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2565 ถึงกลางปี 2566 ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณอายุ โดยในการทำงานนั้น หัวหน้าแก๊งจะสั่งให้คัดลอกและท่องบทพูดจนคล่องและนั่งประกบรุ่นพี่จนสามารถทำงานได้ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องหลอกเหยื่อให้โอนเงินอย่างน้อยสัปดาห์ละ 20 ล้านบาท (หรือ ประมาณเดือนละ 80 ล้านบาท) ทำให้มีแก๊งดังกล่าวมีรายได้หมุนเวียนนับพันล้านต่อปี
ผู้ต้องหายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า หากทีมไหนยอดถึงเป้าจะได้หยุด 1 วัน หากทีมไหนยอดไม่ถึงเป้า ก็จะไม่มีวันหยุดพัก โดยช่วงเวลา 18.00 น. ของทุกวันจะประกาศผลการทำยอดของแต่ละคน ซึ่งหากใครทำยอดได้เยอะ
จะได้รับเสียงปรบมือจากทุกคนและได้รับรางวัลพิเศษในที่ประชุม และในส่วนเงินตอบแทนจะได้รับตามเปอร์เซ็นต์ของยอดเงินที่หลอกได้ คือ สาย 1 ได้ 6 เปอร์เซ็นต์ สาย 2 ได้ 5 เปอร์เซ็น และสาย 3 ได้ 5 เปอร์เซ็นต์ หากคนเดียวสามารถทำงานได้ทั้งสาย 1 และสาย 2 ก็จะได้รับผลตอบแทนรวมกันถึง 11 เปอร์เซ็นต์