ทีมคณาจารย์ และนักศึกษา คณะวิศวกรรมและอุตสหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติ นำโดย ผศ.ดร.ฐิตินันท์ รัตนพรหม รองคณบดีฝ่ายวิชาการและการต่างประเทศ, ผศ.ดร.กนกวรรณ ตาลดี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และงานคลัง , อาจารย์ชวกร ศรีเงินยวง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมอาหาร และนักศึกษา 3 ทีม เข้าร่วมการแข่งขันวิชาการ 10th Southeast Asian Agricultural and Food Engineering Student Chapter, Annual regional convention ,ARC 2024 เมื่อวันที่ 10-16 พ.ค. 2567 ณ Universiti Malaysia Perlis ประเทศ Malaysia ซึ่งมีสถาบันการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนมาก โดยคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ส่งทีมนักศึกษาเข้าร่วม 3 ทีม สามารถคว้ามาได้ 4 รางวัล ดังนี้
(1) ทีมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร โดยนางสาวกัญญาภัค เณรจาที, นางสาวเกษิณี ตาบัว และนางสาวณัฎฐณิชา ทองปลอด ได้รางวัล Best team player และผลงาน blossom cookie ได้รางวัลเหรียญเงิน Innovation Competition Young Agricultural & Food Engineers “blossom cookie” เป็นคุกกี้ดอกกุหลาบที่กินได้ (edible rose) ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าคุกกี้ปกติถึง 12 เท่า เมื่อวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการฟอกสีอนุมูลอิสระที่มีประจุบวก (ABTS scavenging activity) และรายงานผลในรูปแบบสมมูลโทรล็อกซ์ (Trolox equivalent) โดยสารต้านอนุมูลอิสระนี้พบมากในดอกกุหลาบหนู (Fairy rose) เช่น Kaempferol และ Quercetin เป็นต้น สาร kaempferol และ quercitin นี้มีคุณสมบัติในการช่วยลดความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือด
(2) ทีมวิศวกรรมอาหาร โดย นาย มงคล คงสังข์ นางสาว อินทิรา เขียวอ่อน และ นาย ศิราวัชร์ สุวรรณวัฒนา ได้รางวัลเหรียญเงิน Innovation Competition Young Agricultural & Food Engineers จากผลงานเรื่อง Prototype of the egg freshness storage machine “Prototype of the egg freshness storage machine (EFSM)” คือเครื่องจัดเก็บความสดของไข่ไก่ที่อุณหภูมิห้อง นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบความสดของไข่ไก่ผ่านการวัดความสว่างของไข่ไก่ที่มีแสงส่องผ่าน และปริมาณแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่ไข่ปล่อยออกมา โดยใช้เซนเซอร์วัดแสง (LDR Sensor) กับเซนเซอร์วัดแก๊ส (MQ135) รวมทั้งมีการวัดอุณหภูมิและความชื้นผ่านเซนเซอร์ DHT11 นอกจากนี้ยังมีการแสดงผลผ่านทางแอปพลิเคชัน Blynk แบบ Real Time ซึ่งเป็นเครื่องที่ช่วยให้การจัดเก็บไข่ไก่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารและลดการสูญเสียอาหารที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความมั่นใจและความพึงพอใจของผู้บริโภคว่าไข่ไก่ยังสดอยูได้อีกด้วย
(3) ทีมวิศวกรรมเกษตร โดย นาย ภูทกฤต เชื้อประดิษฐ์ และ นางสาว วิสาร์กร นาคะสิริศักดิ์ ได้รางวัลเหรียญทองแดง Innovation Competition Young Agricultural & Food Engineers จากผลงาน Design and development of IoT sensors for monitoring the Maejo Engineering compost production process “Design and development of IoT sensors for monitoring the Maejo Engineering compost production process” เป็นการพัฒนาและออกแบบ iot sensor สำหรับวัดตัวแปรในการผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง โดยวิธีการวิศวกรรมแม่โจ้หนึ่ง เพราะการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพให้ได้คุณภาพโดยวิธีนี้ต้องอาศัยจุลินทรีย์จากมูลสัตว์เป็นตัวช่วยในการย่อยสลายวัสดุธรรมชาติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมค่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระตุ้นจุลินทรีย์ อุปกรณ์ iot sensor for the compost เป็นอุปกรณ์สำคัญที่คอยตรวจจับและแสดงค่าปัจจัยที่สำคัญเช่นอุณหภูมิและความเป็นกรด-ด่างในกองปุ๋ยหมักที่ทำให้จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยมีประสิทธิภาพการทำงานสูงที่สุด ทั้งนี้ยังสามารถแสดงข้อมูลไปยัง smart phone ของผู้ผลิต เพื่อให้ทราบค่าปัจจัยในกองปุ๋ยอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีปัญหาสามารถแก้ไขและควบคุมได้ทันท่วงที
ด้าน ผศ.ดร.ฐิตินันท์ รัตนพรหม รองคณบดีฝ่ายวิชาการและการต่างประเทศ คณะวิศวะฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากผลงานที่ได้รับในครั้งนี้ เห็นได้ว่านักศึกษาของคณะฯ เรามีความสามารถ กล้าแสดงออก และมีทักษะภาษาอังกฤษดีเพียงพอที่จะสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ นอกจากนั้นนักศึกษายังได้ทำกิจกรรมอีกหลายอย่าง เช่น แข่งทักษะ, maze race, แสดงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งช่วยสร้างมิตรภาพ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบัน ทั้งนี้ ในปี 2025 ทางคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Southeast Asian Agricultural and Food Engineering Student Chapter, Annual regional convention , ครั้งที่ 11 มหาวิทยาลัยแม่โจ้พร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้ามาร่วมงาน จึงขอเชิญชวนนักศึกษา หรืออาจารย์ที่สนใจมาร่วมประกวดได้ แล้วพบกันที่แม่โจ้นะคะ”