27 มิ.ย. 67 – นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนมักพบการระบาดของกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคโควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ และโรคติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งไวรัส RSV มักพบการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กเล็กเป็นหลัก จากข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในประเทศไทยเฉพาะพื้นที่ (Sentinel Surveillance) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 – 8 มิถุนายน 2567 โดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และศูนย์ความร่วมมือไทย – สหรัฐ ด้านสาธารณสุข พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส RSV 1,226 ราย จากผู้ป่วยทางเดินหายใจ 19,179 ราย (ร้อยละ 6.39) อายุระหว่าง 9 วัน – 87 ปี (อายุเฉลี่ย 2 ปี) โดยตรวจพบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 573 ราย (ร้อยละ 46.74) รองลงมา คือ อายุ 2 – 5 ปี 472 ราย (ร้อยละ 38.50) และอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป 181 ราย (ร้อยละ 14.76) มีผู้เสียชีวิต 3 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.24 อายุต่ำสุด 1 ปี 8 เดือน และสูงสุด 86 ปี ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบติดเชื้อ RSV 28 ราย (ร้อยละ 2.28) ทั้งนี้จำแนกเป็นผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง 20 ราย (ร้อยละ 71.4)
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคฯ ของกองระบาดวิทยา พบว่า เชื้อ RSV มักจะเป็นสาเหตุของการเกิดปอดอักเสบรุนแรงในเด็กและผู้สูงอายุ หากดูลักษณะทางระบาดวิทยาในช่วงปีที่ผ่าน ๆ มา จะพบโรคติดเชื้อไวรัส RSV ได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเดียวกับฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ อาการและการติดต่อมีความคล้ายกัน จึงคาดว่าจะเริ่มมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มสูงมากขึ้นในช่วงระยะนี้เป็นต้นไป ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วนั้น เนื่องจากไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ และเชื้อยังแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอ หรือการจาม เช่นเดียวกับโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค เน้นย้ำให้ประชาชนหรือผู้ปกครองเตรียมพร้อมเฝ้าระวังและใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่และโควิด 19 โดยการสร้างความตระหนัก แนวทางการป้องกันสำหรับประชาชนทั่วไป ดังนี้
1) ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ
2) เลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสจมูก ปาก หรือตา
3) ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม
4) หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย
5) เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย คือ
1) หยุดพักรักษาที่บ้าน และสวมหน้ากากอนามัย หมั่นทำความสะอาดบ้านเพื่อลดเชื้อ
2) ดื่มน้ำมากๆ เนื่องจากน้ำจะช่วยทำให้สารคัดหลั่งไม่เหนียวจนเกินไป
3) หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว