27 ก.ค. 67 – รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant” ประเด็นเกี่ยวกับก่อนหน้านี้ที่อาจารย์อภินันท์ จากคณะประมง ม.แม่โจ้ เสนอให้ใช้สารพิษ “ไซยาไนด์” ฆ่าปลาหมอคางดำ โดยระบุว่า
อาจารย์ท่านคงหมายถึงให้ใช้เป็นตัวเลือกสุดท้าย เมื่อมันหมดหนทางเยียวยาจริงๆ แต่ก็มีผลกระทบตามมาสูงมากครับ
– คือตามคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์อภินันท์ (รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้) บอกเชิงกังวลว่า มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้กำจัดปลาหมอคางดำอยู่ในขณะนี้นั้น อาจจะไม่ทันการณ์! เพราะปลาหมอคางดำเกิดง่าย ตายยาก อึดทน แพร่พันธุ์ได้เร็ว แพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าควบคุมไม่ได้ อาจขยายพันธุ์ข้ามไปยังภูมิภาคอื่นๆ อีกไม่นาน จะขึ้นไปถึงชัยนาทและนครสวรรค์ อย่างแน่นอน
– อาจารย์เลยเสนอว่า หากสถานการณ์ “เกินเยียวยา” ก็อาจใช้ไซยาไนด์เป็น “มาตรการสุดท้าย” ที่ในการกำจัดปลาหมอคางดำ … แต่ต้องอยู่เป็นพื้นที่ที่ระบาดหนัก มีการบล็อกพื้นที่ต้นน้ำปลายน้ำ และต้องควบคุมเฉพาะ ไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม
– โดยอาจารย์ระบุด้วยว่า โครงสร้างทางเคมีของไซยาไนด์เป็นประจุลบ (หมายถึงไปจับกับสสารอื่นในน้ำ ตกตะกอน สลายตัวไปได้) พบได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว และจะไม่มีการตกค้าง ไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำ … เป็นอีกหนึ่งแนวทาง ที่จะลดความเสียหายให้กับภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจ ระบบนิเวศและทรัพยากรแหล่งน้ำ ได้อย่างเห็นผล
– ซึ่งผมก็ให้ความเห็นว่า ในทางทฤษฎีนั้น เป็นเรื่องจริงที่การใส่สารไซยาไนด์ลงไปในแหล่งน้ำ จะสามารถฆ่าปลาหมอคางดำได้ … ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสารไซยาไนด์ แต่ยังรวมถึงสารเคมีอื่นๆ ที่เคยมีการใช้ “เบื่อปลา” กันในอดีต หรือพวกสมุนไพร เช่น “โล่ติ๊น” (หรือ ต้นหางไหล) ก็สามารถใช้กับปลาหมอคางดำได้
– แต่ในทางปฏิบัตินั้น ก็ต้องมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน ที่จะต้องได้รับสารพิษนี้ ตายตามปลาหมอคางดำนั้นไปด้วย และจะทำให้ระบบนิเวศของแหล่งน้ำดังกล่าวที่ใช้ เกิดความเสียหายอย่างหนักได้ … ถ้าจะพอใช้ได้ ก็คงต้องเป็นพื้นที่ปิด เป็นบ่อน้ำบ่อปลาส่วนบุคคล ไม่ควรเป็นพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำสาธารณะ
– สอดคล้องกับที่อาจารย์อภินันท์ ก็บอกไว้เช่นกันว่า ต้องมีการศึกษาเรื่อง “ปริมาณที่เหมาะสม” กับพื้นที่แหล่งน้ำ ที่จะดำเนินการ และระยะเวลาปลอดภัย ที่จะกลับเข้าไปฟื้นฟูด้วย แต่ผมเห็นต่างจากอาจารย์ ตรงที่อาจารย์บอกว่า “ไม่น่าห่วง เพราะสามารถฟื้นฟูเติมปลาไทยลงไปใหม่ได้ ไม่ยาก”
ซึ่งผมเห็นต่างว่า มันยากนะครับ ที่เมื่อเราทำลายระบบนิเวศที่ไหนแล้ว จะให้มันกลับมาสมบูรณ์ มีความหลากหลายเหมือนเดิมได้
– เลยบอกนักข่าวไปว่า จริงๆ จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการรณรงค์จับและทำลายปลาหมอคางดำกันขนาดใหญ่ ในช่วงเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ (หลังจากที่ไม่เคยทำกันมาเลยหลายปี) เริ่มเห็นได้ชัดเจนว่า ได้ผลจริง ! จำนวนประชากรปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่ออนุญาตให้ใช้เครื่องมือจับปลาเฉพาะ เช่น พวกเรืออวนรุน ก็จับได้เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว
– ที่ติดขัดกันอยู่ตอนนี้ และน่าจะทำเพิ่มก็คือ การอนุญาตให้จับปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตอภัยทานของวัด (ซึ่งยังติดข้อกฏหมาย และความเชื่อทางศาสนา) กับการอนุญาตให้ใช้ เครื่องช็อตไฟฟ้า (ซึ่งติดข้อกฏหมายเช่นกัน แต่จะมีประโยชน์มาก ในพื้นที่ที่เรือไม่สามารถเข้าไปได้ง่าย) .. ถ้าเพิ่มอีก 2 อย่างนี้ได้ ก็น่าจะกำจัดปลาหมอคางดำได้ผลขึ้นอีกเยอะครับ
– สุดท้ายขอเพิ่มข้อมูลจากงานวิจัยในต่างประเทศ ถึงการทดลองใช้สารพิษไซยาไนด์ กับ “ปลานิล” (เนื่องจากมีการลักลอบใช้กันอยู่) เพื่อดูว่ามีตกค้างในปลามากน้อยแค่ไหน เผื่อมีการนำไปบริโภคกัน
– จากบทความ Toxicity and stability of sodium cyanide in fresh water fish Nile tilapia โดย Enas M. Ramzy ในวารสารวิจัย Water Science ฉบับ Volume 28, Issue 1, October 2014, Pages 42-50
– ทำการศึกษาผลของสาร โซเดียมไซยาไนด์ ความเข้มข้น 0.129 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของปลานิล เมื่อเลี้ยงไป 28 วัน โดยดูการทำงานจากเอนไซม์ adenosine triphosphatase (ATPase ) ในอวัยวะของปลา คือ ที่เส้นเหงือก ตับ และกล้ามเนื้อ / รวมถึงระดับความเสถียรของสารไซยาไนด์ ที่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของปลาซึ่งเก็บแช่เย็นไว้
– พบว่า ปลามีพฤติกรรมที่ผิดปรกติไป โดยภายใน 14 วันแรกของการเลี้ยงนั้น ปลาสูญเสียสมดุลร่างกาย มีการหลั่งเมือกออกมามากเกิน ที่บริเวณเส้นเหงือกและผิวหนัง
– ยิ่งไปกว่านั้น สารโซเดียมไซยาไนด์ ได้ลดปฏิกิริยาของสารเอนไซม์ ATPase ของเนื้อเยื่อที่ทำการศึกษา ตามช่วงเวลาที่ผ่านไป
– และค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของไซยาไนด์ ที่อยู่ในเนื้อเยื่อปลาแช่แข็ง ก็ลดลงเรื่อยๆ โดยไซยาไนด์ในกล้ามเนื้อและตับของปลานั้น หายไปหมดในเวลา 48 ชั่วโมง และในเลือดและเหงือกปลาแช่แข็งนั้น จะหายไปหมดใน 72 ชั่วโมง
ที่มา : Jessada Denduangboripant