เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 67 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 10/2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หลังได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่า ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และ สปป.ลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก
สทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 16 – 22 สิงหาคม 2567 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ
1.1 ภาคเหนือ
จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่สาย เชียงแสน เวียงแก่น ขุนตาล พญาเม็งราย เวียงชัย เทิง และแม่ลาว)
จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย และเชียงดาว)
จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า และขุนยวม)
จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง และแม่สอด)
จังหวัดลำพูน (อำเภอเมืองลำพูน บ้านโฮ่ง ทุ่งหัวช้าง แม่ทา ลี้ และป่าซาง)
จังหวัดลำปาง (อำเภอวังเหนือ และงาว)
จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา แม่ใจ ภูซาง ปง เชียงคำ จุน และเชียงม่วน)
จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน เฉลิมพระเกียรติ แม่จริม บ้านหลวง ปัว ท่าวังผา เวียงสา ทุ่งช้าง เชียงกลาง สันติสุข บ่อเกลือ สองแคว และภูเพียง)
จังหวัดแพร่ (อำเภอเมืองแพร่ เด่นชัย ลอง และวังชิ้น)
จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแล พิชัย ทองแสนขัน และท่าปลา)
จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ นครไทย วังทอง และเนินมะปราง)
จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ หล่มเก่า และหล่มสัก)
1.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัดเลย (อำเภอเชียงคาน และปากชม)
จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย โพธิ์ตาก และรัตนวาปี)
จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด พรเจริญ ศรีวิไล บุ่งคล้า โซ่พิสัย เซกา และบึงโขงหลง)
จังหวัดหนองบัวลำภู (อำเภอเมืองหนองบัวลำภู ศรีบุญเรืองและโนนสัง)
จังหวัดอุดรธานี (อำเภอเพ็ญ บ้านดุง ทุ่งฝน หนองหาน และหนองแสง)
จังหวัดสกลนคร (อำเภอเมืองสกลนคร บ้านม่วง คำตากล้า เจริญศิลป์ วานรนิวาส สว่างแดนดิน ส่องดาว และพรรณานิคม)
จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม บ้านแพง นาทม ศรีสงคราม ท่าอุเทน นาหว้า โพนสวรรค์ ปลาปาก และธาตุพนม)
1.3 ภาคตะวันออก
จังหวัดนครนายก (อำเภอเมืองนครนายก ปากพลี และบ้านนา)
จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี ประจันตคาม นาดี และกบินทร์บุรี)
จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี มะขาม ขลุง และแหลมสิงห์)
จังหวัดตราด (อำเภอคลองใหญ่ และเกาะกูด)
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พะเยา น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ตราด
และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ ลำน้ำงาว (อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย)
แม่น้ำสาย (อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย)
ลำน้ำปาย (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า และปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
แม่น้ำลาว (อำเภอเชียงคำ และภูซาง จังหวัดพะเยา อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย)
แม่น้ำน่าน (อำเภอเมืองน่าน เวียงสา เชียงกลาง ภูเพียง และท่าวังผา จังหวัดน่าน)
แม่น้ำยม (อำเภอปง เชียงม่วน จังหวัดพะเยา อำเภอสอง และหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก)
แม่น้ำแควน้อย (อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก)
แม่น้ำป่าสัก (อำเภอหล่มสัก และหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์)
ลำน้ำก่ำ (อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม)
แม่น้ำตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง และบ่อไร่ จังหวัดตราด)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน
2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและพนังกั้นน้ำ เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ให้พร้อมใช้งาน และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์