17 ส.ค. 67 – ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์เรื่องราวลงในกลุ่ม “พวกเราคือผู้บริโภค” หลังสั่งซื้อทีวีจากช่องทางออนไลน์ แล้วหลังได้รับของแกะออกมากลับเจอว่าจอแตกไม่สามารถใช้ได้ จึงทักแจ้งทางร้านขอเปลี่ยนเครื่องใหม่ แต่ทางร้านปฏิเสธและถามหาคลิปตอนแกะออกจากกล่อง
จากโพสต์ดังกล่าวได้ระบุว่า ซื้อทีวีจากแพลตฟอร์มออนไลน์ สภาพคือแตก กล่องมีรอยเล็กน้อย ทักไปทางร้านไม่เปลี่ยนเครื่องถ้าไม่มีวิดิโอตอนแกะกล่อง ปล.2 คนแกะก็ลำบากแล้ว ใครจะตั้งกล้องถ่ายไว้
นอกจากนี้เจ้าของโพสต์ยังได้แคปภาพโพสต์การสนทนากับทางร้าน โดยแอดมินแจ้งว่า “ถ้าอยู่ในระยะเวลา 14 วัน หลังจากลูกค้าได้รับสินค้าและมี VDO ตอนแกะ ก็จะสามารถเปลี่ยนใหม่ได้” และยังบอกอีกว่า “คุณสามารถให้คนอื่นช่วยถ่ายได้ หรือคุณมีขาตั้งกล้อง หรือสถานที่ที่สามารถวางโทรศัพท์ได้หรือไม่”
หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น พร้อมคำแนะนำจำนวนมาก
“กดคืนผ่านแอฟครับ”
“ต้องถ่ายมือ1 อีกมือ1แกะครับ”
“กดคืนสินค้า อัพคลิปที่ชำรุด กดคืนสินค้าค่ะไม่ต้องยืนยันสินค้า”
“เห็นใจทั้ง2ฝ่ายค่ะ ขนส่งนี่เป็นส่วนสำคัญมากๆ กว่าจะผ่านมาถึงเรา ผ่านมาหลายคลังมาก ส่วนมากโยนทั้งนั้น”
“ไม่ต้องกดรับ สินค้า กดคืนของในระบบได้เลย”
ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวทางทนายเกิดผล แก้วเกิด เคยให้ข้อมูลทางกฎหมายเกี่ยวกับการซื้อสินค้า และต้องแกะวิดีโอไว้ว่า
พ่อค้าแม่ค้า ส่งสินค้าให้ลูกค้า มีการติดสติกเกอร์หน้ากล่องพัสดุว่า “#กรุณาถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเคลมสินค้า #ไม่มีหลักฐานงดเคลมทุกกรณี”
ปรากฏว่า คดีที่ศาลจังหวัดอุดรธานีคดีหนึ่ง ผู้ซื้อสินค้า รับสินค้าไว้ แต่ไม่ได้ถ่ายคลิปวิดีโอ ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อเปิดกล่องพัสดุ ผลคือ สินค้าแตกหัก ขอคืนสินค้า แต่ผู้ขายปฏิเสธ เพราะผู้ซื้อไม่ได้ถ่ายคลิปเป็นหลักฐานในขณะรับสินค้า ลูกค้าจึงนำคดีมาฟ้อง เป็นคดีผู้บริโภค
ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดอุดรธานี) พิพากษาว่า ข้อความดังกล่าวนี้ถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม สัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินสมควร ประกอบกับคู่สัญญาไม่ได้รับความยินยอมในสัญญาตั้งแต่ต้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 11
สิ่งที่ควรกระทำ ผู้จัดส่งควรถ่ายวิดีโอขณะแพ็กสินค้า ผู้รับควรถ่ายวิดีโอขณะแกะสินค้า เมื่อมีการชำรุด แตกหัก ร้านค้าต้องรับผิดชอบในเบื้องต้น และเรียกค่าเสียหายจากผู้ขนส่งมิใช่เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคฝ่ายเดียว
คดีลักษณะนี้ ในลักษณะติดประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียว เช่น รถหายในห้าง โดยห้าง ติดประกาศว่า รถหายห้างจะไม่รับผิดชอบ ศาลฎีกา เคยพิพากษาว่า ข้อความดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เป็นโฆฆะ ตามมาตรา 11 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2557)
ส่วนคดี ที่จังหวัดอุดรธานี ยังไม่ถึงที่สุด แต่มีข้อความประกาศในลักษณะคล้ายกับคดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2557 จึงเชื่อว่า น่าจะพิพากษาให้ผู้ขายหรือขนส่งรับผิดเช่นกัน