21 ก.ย. 67 – กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตรียมจัดประชุมร่วม 57 จังหวัดที่ได้รับจัดสรรเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้ เพื่อชี้แจงขั้นตอนและแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และประชาชนได้รับเงินช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น เพื่อให้การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างถูกต้อง ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยได้รับเงินช่วยเหลือโดยเร็ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้เตรียมจัดประชุมกับ 57 จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 เพื่อชี้แจงขั้นตอนและแนวทางการปฏิบัติงานให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีกำหนดจัดประชุมชี้แจงในวันที่ 24 กันยายน 2567 เวลา 13.30 น.
สำหรับ 57 จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ เป็นจังหวัดที่มีสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมาและได้รับผลกระทบ มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
โดยในเบี้องต้น ผู้ประสบภัยสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือได้ 2 ช่องทาง ทั้งแบบ onsite และ online โดย
1. การยื่นคำร้องฯ ด้วยตนเอง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย
2. การยื่นคำร้องฯ ด้วยตนเองผ่านทาง website ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการยื่นคำร้องและติดตามสถานะการขอรับเงินช่วยเหลือฯ ช่วยลดขั้นตอนเอกสารและระยะเวลาในการเดินทางมาติดต่อ และเพื่อให้ประชาชนเข้าใช้งานได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วที่สุด