รมว.ปุ๋ง แนะอยากให้แต่งกายชุดไทยไปลอยกระทง เผยแพร่คุณค่าวัฒนธรรมประเพณีไทย ผลักดันเป็น Soft Power สู่ World Event ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องมาเยือน

29

13 พ.ย. 67 – นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชน ที่มีต่อ “วันลอยกระทง” ประจำปี พ.ศ.2567 จากกลุ่มตัวอย่างเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 26,410 คน จากการสอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าความสำคัญของประเพณีลอยกระทง คืออะไร ผลโพลอันดับแรก ตอบว่าเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ร้อยละ 59.38 อันดับ 2 เพื่อรู้คุณค่าของน้ำ และการปฏิบัติต่อการใช้น้ำเนื่องจากน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ร้อยละ 51.61 และอันดับ 3 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ร้อยละ 40.56 และเมื่อถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ สนใจการจัดงานลอยกระทงในปีนี้ที่ไหน ผลโพลชี้ให้จังหวัดสุโขทัย งานการแสดงแสงเสียง งานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ นำมาเป็นอันดับแรก ร้อยละ 22.85 ตามด้วย จังหวัดเชียงใหม่ งานประเพณียี่เป็งล้านนา/ประเพณีเดือนยี่เป็ง ร้อยละ 21.42 และไอคอนสยาม Icon Siam ร้อยละ 19.88

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า เมื่อสอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่างานประเพณีลอยกระทงควรจัดให้มีกิจกรรมใด ผลกรากฏว่า การประกวดกระทงสวยงาม ร้อยละ 58.51 กิจกรรมการประกวดนางนพมาศ ร้อยละ 52.84 และกิจกรรมการแต่งกายชุดไทยเข้าร่วมประเพณีลอยกระทง ร้อยละ 47.70 ตามลำดับ ขณะที่เมื่อถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าในสภาวะปัจจุบันควรลอยกระทงอย่างไร ได้คำตอบ คือ ลอยกระทงโดยใช้วัสดุธรรมชาติ ร้อยละ 60.12 1 ครอบครัว 1 กระทง ร้อยละ 52.36 และลอยกระทงออนไลน์ ร้อยละ 40.58 นอกจากนี้ ผลโพลของการสอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ เป็นห่วงและกังวลการจัดงานประเพณีลอยกระทงในปีนี้ ได้แก่ อันดับ 1 เกิดขยะในแม่น้ำ ร้อยละ 60.33 อันดับ 2 เกิดอุบัติเหตุ เช่น พลัดตกน้ำ จมน้ำ อุบัติเหตุทางการจราจร ร้อยละ 55.10 และอันดับ 3 ผู้จัดงานปล่อยปละละเลย/ ไม่คุมเข้มตามมาตรการรักษาความปลอดภัย ร้อยละ 49.48

blank

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปอีกว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้กระทรวงวัฒนธรรมและภาครัฐจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทงทุกปี เพื่ออนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมประเพณีลอยกระทง ที่ทรงคุณค่าไม่ให้สูญหาย ปฏิบัติตามแบบประเพณีวัฒนธรรมที่เหมาะสม สะท้อนถึงการแสดงออกที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีให้แก่กันและการแสดงความกตัญญูต่อ “น้ำ” จัดทำสื่อการเรียนรู้และสารคดีเกี่ยวกับความเป็นมาของประเพณีลอยกระทงและความสำคัญในสังคมไทย ส่งเสริมและรณรงค์ให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติในการทำกระทง ร่วมใส่ใจสายน้ำและสิ่งแวดล้อม และควรจัดงานลอยกระทงในแหล่งน้ำปิดที่สามารถเก็บกระทงที่ใช้แล้วมาทำลายได้อย่างถูกวิธี ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดประกวดกระทงสร้างสรรค์ ดึงดูดนักท่องเที่ยว เปิดขายสินค้าพื้นบ้านและอาหารท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน และขอให้รณรงค์แต่งกายชุดไทยไปลอยกระทงเพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทย เผยแพร่ประเพณีลอยกระทงไปสู่สายตาของชาวโลก รวมถึงให้สนับสนุนการลอยกระทงออนไลน์ ลดขยะในแหล่งน้ำไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

blank

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม มีกำหนดจัดงานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2567 ในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงทางวัฒนธรรม เช่น สนุกกับการรำวงเพลงลอยกระทง 6 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สเปน โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ และมีศิลปินที่มีชื่อเสียงร่วมรำวงและขับร้องเพลงในงาน ได้แก่ สุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ ศรราม น้ำเพชร มนต์สิทธิ์ คำสร้อย นัท มาลิสา ศิรินทรา นิยากร ผิงผิง วิน วศิน The Golden Song วงเทพบุตร รถแห่ และ น้องดินสอสี พนิดา เขื่อนจินดา นางสาวไทยประจำปี 2567 รวมทั้งการแสดงดนตรีพื้นบ้านวงโปงลางอีสาน ชวนน้องหมูเด้งมาเต้นโปงลาง การจัดแสดงนวัตกรรมใหม่ลอยกระทงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลอยกระทง ด้วยระบบเทคโนโลยี Interactive การประชันวงดนตรีไทย การจัดแสดงองค์ความรู้คุณค่าสาระ ของประเพณีลอยกระทง การสาธิตอาหารไทย ขนมโบราณของชุมชนต่าง ๆ ตลอดจนการจัดพิมพ์หนังสือประเพณีลอยกระทงและแผ่นพับประชาสัมพันธ์ฉบับนักท่องเที่ยว (คุณค่าสาระและ Do & Don’t) อีกด้วย

และในส่วนภูมิภาค กระทรวงวัฒนธรรม ยังบูรณาการจัดงานใน พื้นที่ 5 เมืองอัตลักษณ์ ได้แก่ เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด และพื้นที่ 8 เมืองน่าเที่ยว ได้แก่ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ลำปาง นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ และภูเก็ต รวมถึงส่งเสริมการจัดประเพณีลอยกระทงทุกจังหวัดทั่วประเทศ

“ขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมงานประเพณีลอยกระทง ร่วมกันสืบสาน รักษา ประเพณีลอยกระทงให้คงคุณค่าความเป็นไทย ร่วมเผยแพร่คุณค่าวัฒนธรรมประเพณีไทยให้ก้องโลก พร้อมผลักดัน Soft Power เทศกาล สู่ World Event ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องมาเยือน และขอให้พี่น้องชาวไทย ร่วมงานประเพณีลอยกระทงอย่างมีความสุข สนุกสนานรื่นเริง เป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับชาวต่างชาติ ที่มาร่วมงานลอยกระทง ให้เกิดความประทับใจในประเพณีไทย และเห็นคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีไทยต่อไป” รมว. วธ. กล่าว

ที่มา : กระทรวงวัฒนธรรม