เช็กเลย! วิธีลงทะเบียนแก้หนี้บ้าน รถ และ SMEs ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เริ่มแล้ววันนี้ ถึง 28 ก.พ. 68

8042

12 ธ.ค. 67 – ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง ออกมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม ภายใต้ชื่อ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งในช่วงเริ่มต้น การช่วยเหลือจะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้

01

มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์”
เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้น

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
(1) ลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น
(2) พักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขได้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ภายใต้มาตรการ
ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถชำระมากกว่าค่างวดขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้ เพื่อตัดเงินต้นเพิ่มและปิดจบหนี้ได้ไวขึ้น

คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินตามประเภทสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ดังนี้
o สินเชื่อบ้าน / บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
o สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท
o สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท
o สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
o กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด

(2) เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567

(3) มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(3.1) เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
(3.2) เป็นหนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน แต่เคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

เงื่อนไขของการเข้าร่วมมาตรการ
(1) ลูกหนี้ไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นกรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เจ้าหนี้สามารถให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม
(2) ลูกหนี้รับทราบว่า จะมีการรายงานข้อมูลต่อเครดิตบูโร (NCB) ถึงการเข้าร่วมมาตรการ
(3) หากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระค่างวดขั้นต่ำได้ตามที่มาตรการกำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ได้ เช่น ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน ลูกหนี้จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้ในระหว่างที่เข้ามาตรการ
(4) หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมในการเข้าร่วมมาตรการและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่

มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ”
เป็นการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน เพื่อเปลี่ยนสถานะจากหนี้เสียเป็นปิดจบหนี้ และให้ลูกหนี้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
ลูกหนี้จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลูกหนี้จะชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถจ่ายและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น

คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
(2) มีภาระหนี้ต่อบัญชี ไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ (สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี)

ในระยะต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-Bank อื่น ๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 8.30 น. ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 23.59 น. ทั้งนี้ ลูกหนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ BOT contact center ของ ธปท. โทร 1213 หรือ call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการและกดเบอร์ต่อ 99

02