กรมควบคุมโรคเตือนเข้าสู่ฤดูหนาว ระวังป่วย “ไข้หวัดใหญ่” โดยเฉพาะเด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ แนะนำสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ

69

14 ธ.ค. 67 – นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาวมักพบการระบาดของกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ จากระบบเฝ้าระวังโรคดิจิทัล (Digital Disease Surveillance: DDS) กองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วย 630,786 ราย อัตราป่วย 971.75 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 47 ราย
อัตราป่วยตาย 0.008 กลุ่มที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 0–4 ปี (3,269.93) รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5–14 ปี (2,807.27) และกลุ่มอายุ 15–24 ปี (807.57) ตามลำดับ โดยข้อมูลจากการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่พบว่าเชื้อที่เป็นสาเหตุการระบาดส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 พื้นที่ที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคกลาง (1,243.11) รองลงมา คือ ภาคใต้ (978.71) ภาคเหนือ (750.43) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (740.84)

“ปี พ.ศ. 2567 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สะสมในระบบเฝ้าระวังโรค (DDS) สูงกว่าผู้ป่วยสะสมในปี พ.ศ. 2566 ในช่วงระยะเวลาเดียวกันถึง 1.5 เท่า และปัจจุบันภาพรวมของประเทศเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อพิจารณาผู้ป่วยรายสัปดาห์ และจำแนกรายภาค พบว่า ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ และยังคงพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคติดต่อทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงเรียน และเรือนจำ นอกจากนี้ยังพบการระบาดมากขึ้นในศูนย์ดูแล/ฟื้นฟูผู้สูงอายุและสถานสงเคราะห์ ดังนั้น ในฤดูหนาวนี้ซึ่งมักจะเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ จึงมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยและการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้น” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป สามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ดังนี้
1) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ
2) เลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสจมูก ปาก หรือตา
3) ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม
4) หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย
5) เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
6) บุคคลกลุ่มเสี่ยงโรครุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว (เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน) หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นต้น ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรค และการเสียชีวิต

ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย คือ
1) แม้จะมีอาการไม่มาก ควรหยุดพักรักษาที่บ้าน 3–7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ
2) สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้อื่น
3) ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้ง เวลาไอ จาม
4) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
5) หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422