25 ธ.ค. 67 – นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Kick off 30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทย สุขภาพดีถ้วนหน้า ระยะที่ 4 ครอบคลุมทั่วประเทศ 1 มกราคม 2568”
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ได้เดินทางมาระยะที่ 4 ตั้งแต่ต้นปี 2567 ได้เริ่มระยะที่ 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ซึ่งรัฐบาลจะพยายามเปิดครบทั่วทุกจังหวัดให้ได้เร็วที่สุด เพื่อลดปัญหาภาระของประชาชน วันนี้ เปิดตัวระยะที่ 4 ประชาชนจะได้ใช้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่อย่างเต็มรูปแบบทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป รัฐบาลทำได้สำเร็จตามเป้าหมายใน 1 ปี เปิดครบทุกเฟส เท่ากับใช้เวลาประมาณ 2 ทศวรรษ จากการพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคมาสู่นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น และเข้ามามีบทบาทอย่างมาก รวมทั้ง Digital Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านระบบสุขภาพสู่ระบบดิจิทัล จากประชาชนที่เคยต่อคิวนาน ๆ ก็สามารถจองบริการผ่านแอปพลิเคชันได้ ไม่ต้องต่อคิวโรงพยาบาลเสียเวลาเป็นวัน หรือเสียเวลาทำกิน ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนต่อไปในวันข้างหน้า
นายกรัฐมนตรียังกล่าวต่อว่า วันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ได้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนแล้ว 100% ประชาชนทุกคนมี Health ID ประจำตัว ได้รับบริการรักษาพยาบาลที่สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการให้บริการแก่ประชาชน กลายเป็นใบส่งตัวในรูปแบบดิจิทัล การแจ้งเตือนนัดหมอผ่านไลน์ การหาหมอผ่านออนไลน์ หรือมีการสมัครงานเป็นไรเดอร์ส่งยา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เสริม รวมถึงการเจาะเลือดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงเครื่องล้างไตอัตโนมัติสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ให้ยืมใช้ที่บ้าน เป็นการสาธารณสุขเชิงรุกมากขึ้น ประชาชนที่นอนติดเตียงได้รับการรักษาที่บ้านได้มากขึ้น รวมทั้ง “ตู้ห่วงใย” ซึ่งเป็นตู้ tele med ที่ให้บริการการแพทย์ทางไกลผ่านการปรึกษาหมอออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้นในทุกพื้นที่ การเปิดให้ร้านยาและคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการหน่วยปฐมภูมิเพื่อดูแลประชาชนมากขึ้น เพิ่มความสะดวก ลดการเดินทาง ลดระยะรอคอยและลดความแออัดในโรงพยาบาล เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ประชาชนในการรับบริการใกล้บ้านมากขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนที่ไม่เคยใช้สิทธิ 30 บาทมาก่อน มาใช้ 30 บาทรักษาทุกที่ มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 80,000 คน