กรมสุขภาพจิต เตือนรับมือ “New Year Blues” ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวปีใหม่ อาการคงอยู่ 2-3 วัน บางคนนานถึง 2-3 สัปดาห์ แนะ 4 วิธีจัดการอารมณ์

1036

2 ม.ค. 68 – กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงปรากฏการณ์ ‘นิวเยียร์บลูส์’ (New Year Blues) หรือภาวะซึมเศร้าหลังเทศกาลปีใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน และเสนอแนวทางการดูแลตนเองอย่างเป็นระบบ ผ่านช่องทางให้คำปรึกษาพร้อมแนะนำ www.วัดใจ.com เพื่อประเมินสุขภาพใจด้วยตนเอง

นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า หลายคนได้พบทั้งเรื่องราวหลากหลายเหตุการณ์ อาจจะมีทั้งดีและไม่ดี ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะ Post-Vacation Depression หรือภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว ซึ่งแม้ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ต้องให้ความสำคัญ โดยทั่วไปอาการมักคงอยู่ 2-3 วัน แต่ในบางรายอาจยาวนานถึง 2-3 สัปดาห์ จนกระทบต่อการใช้ชีวิต อาการสำคัญที่พบ ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า ความเหนื่อยล้า ขาดแรงจูงใจ และความรู้สึกหมดพลัง ซึ่งสามารถประเมินสภาวะทางจิตใจเบื้องต้นได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.วัดใจ.com ที่ให้บริการประเมินครอบคลุมทั้งด้านภาวะซึมเศร้า ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งเมื่อพบความเสี่ยงจากการประเมิน จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อให้คำปรึกษาต่อไปด้วย

นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า อาการ New Year Blues ซึ่งเป็นอาการเศร้าหรือเหงา ที่หลายคนมักเผชิญในช่วงปีใหม่โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ความรู้สึกซึมเศร้า เบื่อหน่าย ความวิตกกังวล และรู้สึกโดดเดี่ยว
ภาวะดังกล่าวสามารถแนวทางการดูแลตนเอง 4 ข้อในการแก้ไขซึ่ง ประกอบด้วย
1. เปิดใจพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับคนใกล้ชิด
2. เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลุ่ม
3. กำหนดเป้าหมายชีวิตที่เป็นรูปธรรมและท้าทายอย่างเหมาะสม
4. ขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อพบว่าอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้หากอาการเหล่านี้รบกวนชีวิตประจำวัน ควรพิจารณาขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือประเมินสภาวะทางจิตใจและรับคำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมผ่านทางเว็บไซต์ วัดใจ.com