ปัญหาใหญ่! เยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี ใช้เวลาไปกับหน้าจอวันละเกือบ 12 ชั่วโมง แนะผู้ปกครองอย่าใช้แท็บเล็ต-โทรศัพท์ เพื่อทำให้เงียบ

33

7 ม.ค. 68 – นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ปาฐกถาพิเศษ “ร่วมออกแบบอนาคตเด็กไทยไปกับ พม.” โดยช่วงหนึ่งได้เผยว่า ทุกคนฝันอยากจะเห็นเด็กไทยเติบโตขึ้นมาแล้วเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม เด็กๆ ไม่ใช่ภาระ แต่เด็กๆ จะต้องเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่จะนำพาสังคมไทยไปข้างหน้า เติบโตขึ้นมามีความเข้มแข็ง ทั้งกายและใจ มีทั้งไอคิว อีคิว ความคิดสร้างสรรค์ ในทางที่ถูกต้อง และไม่ทำตัวให้เป็นภาระของสังคม ในขณะที่ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของเยาวชนไทยที่อายุต่ำกว่า 20 ปี นั้น ใช้เวลาไปกับหน้าจอวันละเกือบ 12 ชั่วโมง ทำให้เวลาส่วนตัวหายไปหมดสิ้น ดังนั้น สิ่งที่สำคัญในวันนี้คือต้องขอแรงจากผู้ใหญ่ที่จะมาดูแลลูกหลาน หากเราให้แท็บเล็ท และโทรศัพท์มือถือแก่เด็กๆ เพื่อให้เงียบ โดยการเงียบของเด็กๆ ไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดี ว่าเด็ก ๆ เป็นคนว่านอนสอนง่าย แต่เด็กๆ กำลังซึมซับ คอนเทนต์อะไรก็ได้ ดังนั้น ผู้ใหญ่จำเป็นที่จะต้องมีทักษะทางดิจิทัลต้องตามเด็กให้ทัน เพราะผู้ใหญ่คือกลุ่มคนที่กำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล ในขณะที่เด็กมีความรู้เรื่องดิจิทัลมากมาย ทำให้ผู้ใหญ่ต้องตามเด็กให้ทัน

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ได้ทำงานร่วมกับหลายองค์กร ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งการทำให้อินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ นั้น เป็นสื่อที่ปลอดภัย มีคอนเทนต์ที่ปลอดภัย โดยมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกำกับดูแลคอนเทนต์และ โซเชียลมีเดียต่างๆ คนในสังคมปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่มีต่อเด็กเล็กมากมาย ดังนั้นการจำกัดการเข้าถึงหรือการกำหนดเวลาให้เด็กได้ดูหน้าจอ เช่นเดียวกับมาตรการของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 20 ของประเทศไทย ใช้เวลาอยู่หน้าจอเกือบ 12 ชั่วโมง หากจะลดเวลาลงหลือ 6 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กๆ ได้หาความรู้ใส่ตัว พัฒนาศักยภาพ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา และอีกมากมาย นับเป็นนโยบายที่ดี ซึ่ง เราทุกฝ่ายจะต้องหาแนวทางประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด