13 ม.ค. 68 – น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทยยังคงเป็นปัญหาใหญ่และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากรายงานการสังเคราะห์ชุดนโยบายสุขภาพจิตของประชากรชาวไทยภายใต้บริบทหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2567 โดย สสส. และศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ มีการเพิ่มขึ้นจาก 6.11 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2560 เป็น 7.94 ในปี 2566 โดยกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี พยายามฆ่าตัวตายมากที่สุด คิดเป็นอัตรา 116.8 คนต่อประชากรแสนคน
สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวชที่ประเมินว่า มีเยาวชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจพบอาการซึมเศร้าสูงถึง 2,200 คนต่อประชากรแสนคน นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กและเยาวชนเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ยาก เพราะจำเป็นต้องใช้จิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งประเทศมีเพียง 295 คน และกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ไปแล้ว 1 ใน 3 ของจำนวนจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งหมด