ศวส. แนะไทยปรับปรุง ฉลากคำเตือน “น้ำเมา” ติดข้อความ-ภาพให้ชัด หลังเสี่ยงต่อมะเร็ง 7 ชนิด

6

18 ม.ค. 68 – จากข่าวใหญ่ในวงการแพทย์สหรัฐล่าสุดเลย คือการออกมาเรียกร้องของ Dr. Vivek Murthy ประธานองค์กรสาธารณสุขระดับสูงสุดของอเมริกา (US Surgeon General) ให้มีการติดฉลากคำเตือนบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ Dr.Vivek กล่าวถึงความสำคัญของปัญหานี้ว่า “เหล้าคือปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อมะเร็ง แต่สังคมไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้สักเท่าไร บางทีเราต้องปรับปรุงฉลากบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น” ซึ่งคำสัมภาษณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลวิจัยปัจจุบัน ที่พบว่า แอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง 7 ชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอย และมะเร็งกล่องเสียง

ศ.นพ.วรวิทย์ จิตติถาวร หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า “ในฐานะศัลยแพทย์ เราพบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มสุราในหลายมิติ โดยเฉพาะมะเร็งที่เกี่ยวข้อง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ ซึ่งมักมาพบแพทย์ในระยะลุกลามจนยากต่อการรักษา ประชากรในภาคใต้รวมทั้งในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยยังขาดความเข้าใจในความเสี่ยงนี้

รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของการวิจัยและการปรับปรุงนโยบาย “ปัจจุบันฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีข้อจำกัดในด้านความชัดเจน ข้อความเตือนส่วนใหญ่ยังเน้นที่ผลกระทบต่อการขับขี่หรือการตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านมะเร็ง การปรับปรุงฉลากให้ระบุข้อมูลเชิงลึก เช่น ‘การบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมและลำคอ’ รวมถึงการใช้กราฟิกที่ชัดเจน จะช่วยเพิ่มการรับรู้ในหมู่ประชาชนได้อย่างมาก”

นพ.พลเทพ ยังให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า “การกำหนดให้ฉลากมีขนาดใหญ่ขึ้น และวางในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ เช่นเดียวกับที่ประเทศไอร์แลนด์เริ่มดำเนินการ จะเป็นแนวทางที่ประเทศไทยควรพิจารณาเพื่อลดผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ”

แนวทางที่ประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้ การออกมาเตือนจากประธานองค์กรสาธารณสุขระดับสูงของสหรัฐอเมริกา (US Surgeon General) และมาตรการที่ไอร์แลนด์ได้ดำเนินการ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การปรับปรุงฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถสร้างความตระหนักรู้และลดผลกระทบด้านสุขภาพได้อย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยควรนำบทเรียนเหล่านี้มาปรับใช้ โดยการปรับปรุงฉลากคำเตือนให้ครอบคลุมความเสี่ยงด้านมะเร็งและผลกระทบต่อสุขภาพอื่นๆ พร้อมใช้ข้อความและกราฟิกที่ชัดเจนในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์

ในขณะเดียวกัน ควรสนับสนุนการวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับผลกระทบของแอลกอฮอล์ เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนในการสนับสนุนการออกกฎหมายใหม่ และจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่แท้จริงของการบริโภคแอลกอฮอล์

ที่มา : ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)