23 ม.ค. 68 – คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ออกข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 104 ว่าด้วย การปฏิเสธการรับขนผู้โดยสาร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป โดยจำกัดให้สายการบินของไทยและต่างประเทศ (ผู้ขนส่ง) สามารถปฏิเสธการรับขนผู้โดยสารได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
– ผู้โดยสารไม่ยินยอมให้ตรวจค้นร่างกาย
– ผู้โดยสารไม่ยินยอมให้ตรวจค้นสัมภาระ
– ผู้โดยสารหรือสัมภาระ ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจด้านการรักษาความปลอดภัยและความปลอดภัย
– ผู้โดยสารมีความประพฤติหรือพฤติกรรมไม่เรียบร้อย
– ผู้โดยสารที่เป็นทารกอายุต่ำกว่า 14 วัน
– ผู้โดยสารอายุต่ำกว่า 5 ปี เดินทางโดยลำพัง
– ผู้โดยสารมีอายุครรภ์เกินกว่าที่กำหนดในเงื่อนไขในการขนส่งของสายการบิน
– ผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ แต่ไม่ได้แจ้งขอรับบริการช่วยเหลือพิเศษล่วงหน้าจากสายการบินภายในระยะเวลาที่กำหนด และสายการบินได้ใช้ความพยายามในการจัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างถึงที่สุดแล้ว
– ผู้โดยสารที่หน่วยงานของประเทศระหว่างทางหรือปลายทางไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ
– ผู้โดยสารไม่สามารถแสดงเอกสารที่ใช้ระบุตัวตนหรือใช้ผ่านเข้าเมืองได้
– ผู้โดยสารที่มีชื่อ-สกุล ในเอกสารระบุตัวตนไม่ตรงกับบัตรผ่านขึ้นอากาศยาน(Boarding Pass)
นอกจากนี้รวมถึงการปฏิเสธการรับขนด้วยเหตุความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย
โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 มาตรา 41/133 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย