อึ้ง! ภัยเงียบจาก “ความเหงา-โดดเดี่ยว” เทียบเท่าสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน หรือดื่มเหล้าวันละ 6 แก้ว

14

31 ม.ค. 68 – นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนใช้เวลาอยู่กับโลกโซเชียลและสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่กลับสื่อสารกับครอบครัวและคนรอบข้างน้อยลง ทำให้เกิดปัญหาทางใจ เช่น ความเหงา ความโดดเดี่ยว และการขาดความเชื่อมโยงทางสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาวะโดยตรงงานวิจัยเรื่อง ความสัมพันธ์ทางสังคมกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดย J. Holt-Lunstad และคณะ ที่เผยแพร่ในวารสาร PLOS Medicine ระบุว่า อันตรายจากความเหงาเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน หรือการดื่มแอลกอฮอล์วันละ 6 แก้ว นอกจากนี้ ภาวะขาดการสัมพันธ์เชื่อมโยง (Lack of Social Connection) อาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การเสพติดสุราและบุหรี่ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อ โรควิตกกังวล ซึมเศร้า และสมองเสื่อม การเผชิญกับ วิกฤตความเหงาและความโดดเดี่ยว กลายเป็นความท้าทายสำคัญของยุคปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางรับมือและพัฒนางานสุขภาวะทางปัญญาให้แก่สังคม

“ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญาเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ สสส. นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนากลยุทธ์และนโยบายที่เชื่อมโยงกับงานบริการสาธารณสุขและการพัฒนาสังคม เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ ในปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน และสามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญาได้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยตรวจสอบและวิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึก การใช้ AI ในการให้คำปรึกษาเบื้องต้น การพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการบำบัดและดูแลจิตใจในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงแอปพลิเคชันสำหรับการฝึกสมาธิและเจริญสติ ซึ่งช่วยสนับสนุนกระบวนการเยียวยาและพัฒนาตนเองในระยะยาวอย่างไรก็ตาม แม้ AI จะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญา แต่ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงมิติทางอารมณ์และความเป็นมนุษย์ที่ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้อย่างสมบูรณ์” นพ.พงศ์เทพ กล่าว