แพทย์พบผู้ป่วย “โรคลายม์” รายแรกของไทย หลังกลับจากเที่ยวต่างประเทศ เผยรักษาได้ทันแต่ความทรงจำผู้ป่วยหายไป
นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคลายม์(Lyme disease) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียโบเรลเลีย (borrelia) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม spirochetes (ดูรูป) เห็บ(ticks)เป็นพาหะนำโรคนี้ โดยกินเลือดจากสัตว์จำพวกสุนัข ม้า กวาง วัว ควาย หนู ที่เป็นตัวกักตุนโรค และนำเชื้อโรคเข้าสู่คนเมื่อมากัดกินเลือดคน โรคนี้พบในหลายประเทศรวมทั้งประเทศตุรกี(ดูแผนที่) ยังไม่มีรายงานโรคนี้ในประเทศไทย อาการของโรคลายม์ในคนจะแสดงออกหลังได้รับเชื้อ 2-4 สัปดาห์ อาการที่พบได้บ่อยคือมีผื่นบริเวณที่ถูกเห็บกัด ไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย เชื้อนี้เล่นงานหลายอวัยวะในคน
ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 47 ปี เพิ่งไปเที่ยวหลายเมืองในประเทศตุรกีนาน 8 วัน หลังกลับมา 17 วัน เริ่มมีไข้ ไอ ปวดหัว ปวดตัว อ่อนเพลีย ไม่มีผื่น เข้านอนรักษาในโรงพยาบาล ตรวจไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ หรือไข้เลือดออก เอกซเรย์ปอดปกติ หลังจากนั้นอีก 4 วัน มีไข้ หัวใจเต้นช้า โคม่า หมดสติ มีชักกระตุกใบหน้าขวา แขนขวา ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ทำคอมพิวเตอร์สมอง CT Brain ปกติ ทำคลื่นไฟฟ้าสมอง EEG พบมีสัญญาณเป็นโรคลมชัก ได้ส่งเลือดและน้ำไขสันหลังตรวจหาแบคทีเรียทั่วไป โรคฉี่หนู โรค Rickettsia วัณโรค เชื้อรา ไวรัสต่างๆรวมทั้ง Nipah virus, West Nile virus, Hantavirus, JE virus ,Adenovirus, Flavivirus,Herpes simplex virus, Varicella zoster virus,Epstei-Barr virus, Cytomegalovirus ผลกลับมาปกติ ให้ยากันชักต่อเนื่อง และยาปฏิชีวนะ 2 ขนานคือ Ceftriaxone และ doxycycline 7 วันแรก ต้องทำการเจาะคอเพราะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจนาน อาการค่อยๆดีขึ้น ในที่สุดหายใจเอง ถอดเครื่องช่วยหายใจได้ ตื่นดี กลับมารู้เรื่อง
หลังกลับจากตุรกี 40 วันได้ส่งเลือด Borrellia antibody ตรวจหาโรคลายม์ ผล Borrellia antibody IgG เป็นบวก เข้าได้กับโรคลายม์ ตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI Brain พบความผิดปกติที่สมองส่วนหน้าด้านซ้าย( left frontal lobe) ผู้ป่วยดีขึ้นช้าๆ นอนรักษาในรพ.2 เดือน หลังจากนั้นอีก 5 เดือนกลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่จำเหตุการณ์ย้อนหลังไม่ได้ จำไม่ได้ว่าเคยไปเที่ยวประเทศตุรกี จำไม่ได้ว่าเคยป่วยหนักนอนใน รพ.
ผู้ป่วยรายนี้น่าจะรับเชิ้อ Borellia ในประเทศตุรกี หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ มีไข้ สมองอักเสบ (Neuroborreliosis) หัวใจเต้นช้า ต่อมาต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าอีก 4 เดือนถัดมา วินิจฉัยเป็นโรคลายม์โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ Borrelia ในเลือด ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาปฏิชีวนะ doxycycline และ ceftriaxone ตรงกับโรคนี้ตั้งแต่ต้น อาการจึงค่อยๆดีขึ้นช้าๆ โรคนี้ไม่พบในประเทศไทยและพบไม่บ่อยในประเทศตุรกี คนไทยที่ไปท่องเที่ยวประเทศตุรกีกลับมา ก็ไม่มีรายงานว่าเคยป่วยเป็นโรคนี้